ทำไมต้อง R?

ปัจจุบัน R เป็นโปรแกรมทางสถิติที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงโดยเฉพาะในวงการนักสถิติ (statistician) นักวิเคราะห์ข้อมูล (data analyst) และนักวิทยาการข้อมูล (data scientist) จากการสำรวจปี ค.ศ. 2014 พบว่ามีผู้ใช้งานโปรแกรม R ทั่วโลกมากกว่า 2 ล้านคน และจากการจัดอันดับโปรแกรมภาษาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปี 2017 โดยนิตยสาร IEEE spectrum พบว่า R เป็นโปรแกรมภาษาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 42 อันดับ และได้คะแนนการจัดอันดับคิดเป็นร้อยละ 87.7

นอกจากนี้จากการสำรวจความต้องการในสายงานนักวิทยาการข้อมูล โดยเวปไซด์ http://r4stats.com/2017/02/28/r-passes-sas/ พบว่าทักษะการใช้โปรแกรม R เป็นทักษะที่มีความต้องการเป็นอันดับที่ 5 คิดเป็นตำแหน่งงานมากกว่า 8,000 ตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าโปรแกรมทางสถิติและคณิตศาสตร์ชั้นนำหลายโปรแกรม เช่น SAS, Tableau, MATLAB, SPSS, Stata, Minitab และ JMP เป็นต้น

สภาพแวดล้อมของ R

โปรแกรม R มีหน้าต่างที่ใช้ในการทำงานอยู่ 3 หน้าต่างหลัก ได้แก่ หน้าต่าง R Console หน้าต่าง Editor และ หน้าต่าง Graphic รายละเอียดเป็นดังนี้

รูป 1 หน้าต่างทำงานในโปรแกรม R


  1. R Console หน้าต่างนี้เป็นหน้าต่างการทำงานหลัก ใช้สำหรับทั้งการป้อนคำสั่งต่าง ๆ นำเข้าข้อมูล รวมไปถึงการรายงานสถานะการทำงาน ความผิดพลาดของการประมวลผล และแสดงผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่ได้จากการวิเคราะห์
  2. Editor เป็นหน้าต่างสำหรับป้อนคำสั่งและข้อมูลเข้าสู่โปรแกรม R เช่นเดียวกับหน้าต่าง console ในข้างต้น แต่การป้อนคำสั่งหรือข้อมูลในหน้าต่าง editor จะช่วยให้การทำงานที่มีความซับซ้อนและต้องใช้คำสั่งในการทำงานหลายคำสั่งสะดวกมากยิ่งขึ้น ข้อได้เปรียบของการใช้หน้าต่าง editor ในการเขียนคำสั่งต่าง ๆ แทนการใช้หน้าต่าง console อาจสรุปได้เป็นสองประการ ประการแรกคือ การใช้หน้าต่าง editor ช่วยจัดระเบียบในการทำงานโดยแยกส่วนของการเขียนคำสั่ง และการแสดงผลลัพธ์ออกจากกัน อีกทั้งยังช่วยให้ให้ผู้ใช้งานสามารถเขียนคำสั่งหลายคำสั่งเพื่อการสั่งงานครั้งเดียวได้อย่างสะดวกและไม่สับสน สามารถกลับไปแก้ไขคำสั่งต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าการดำเนินการในหน้าต่าง console ประการที่สอง ผู้ใช้งานสามารถบันทึกชุดคำสั่งที่เขียนใน editor เพื่อนำมาใช้ซ้ำหรือนำมาปรับปรุงต่อยอดสำหรับการทำงานในครั้งต่อไป การเรียกใช้หน้าต่าง editor จะต้องคลิ้กเลือกที่เมนู File บนแถบเมนูด้านบน จากนั้นเลือก New Script (สำหรับ Mac OS ให้เลือกคลิ้กเลือก File ที่แถบเมนูด้านบนเช่นเดียวกัน จากนั้นเลือก New Document)
  3. graphics (ใน Mac OS เรียกว่าหน้าต่าง “quartz”) เป็นหน้าต่างแสดงผลลัพธ์เชิงกราฟฟิกทั้งหมดของโปรแกรม

การติดตั้งโปรแกรม R

  1. เข้าสู่ website download R
  2. เลือกดาวน์โหลดโปรแกรมที่เหมาะสมกับระบบปฏิบัติการของเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยสามารถเลือกได้ 3 ระบบปฏิบัติการได้แก่ Linux, Windows และ Mac OS
  3. ดำเนินการติดตั้งโปรแกรมตามคำแนะนำของตัวช่วยติดตั้ง

RStudio IDE

การใช้ R จาก base distribution เป็นโปรแกรมมีเครื่องมือช่วยในการทำงานไม่มากนัก ซึ่งอาจมีเป็นข้อจำกัดในการใช้งานสำหรับผู้ใช้ที่ยังไม่เคยใช้โปรแกรมภาษามาก่อน ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการทำงาน โดยเฉพาะกับการทำงานขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนและต้องใช้คำสั่งจำนวนมาก RStudio เป็นสิ่งแวดล้อมสำหรับการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ (integrated development environment: IDE) ของภาษา R ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตัวหนึ่งในปัจจุบัน โดยมีเครื่องมือช่วยเหลือการทำงาน ทั้งโปรแกรมแปลคำสั่ง (interpreter) เครื่องมือเสนอและวางคำสั่งอัตโนมัติ (build automation tools) และโปรแกรมตรวจจุดบกพร่อง (debugguer) รวมทั้งเครื่องมืออำนวยความสะดวกอื่น ๆ ผู้อ่านสามารถศึกษาคุณสมบัติอื่น ๆ ของ RStudio เพิ่มเติมได้ที่ https://www.rstudio.com/products/rstudio/features/

รูป 2 หน้าต่างทำงานในโปรแกรม RStudio